ดนตรีแจ๊ส (Jazz)
ความหมายของคำว่า แจ๊ส
ความหมายของคำว่าแจ๊ส เคยมีผู้พยายามนิยามความหมายไว้หลายแบบ ซึ่งยากต่อการนิยาม ตามความหมายของคำว่าแจ๊สในในพจนานุกรมไทยวัฒนาพานิช โดย วิทูลย์ สมบูรณ์ หมายถึง ดนตรีเต้นรำเล่นลัดจังหวะ, เล่นดนตรีชนิดนี้, เต้นรำ เข้ากับดนตรีชนิดนี้ สำหรับพจนานุกรมฉบับอ๊อกฟอร์ดให้คำจำกัดความไว้ว่า "เป็นดนตรีที่ถือกำเนิดจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันซึ่งมีจังหวะชัดเจนที่เล่นอย่างอิสระโดยการประสานกันขึ้นเองของนักดนตรีในขณะที่กำลังบรรเลง"
ดุ๊ก เอลลิงตันเคยพูดไว้ว่า "แจ๊สก็คือดนตรีทั้งหมดรวมกัน" ซึ่งก็มีนักวิจารณ์พูดว่า เอลลิงตันนั้นจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้ทำดนตรีแจ๊ส เพื่อนของเอลลิงตันอีกคนชื่อ เอิร์ล ไฮนส์ กล่าวไว้ว่า มันคือ "ดนตรีเปลี่ยนรูป" ส่วนเบน แรตลิฟฟ์ นักวิจารณ์จากนิวยอร์กไทม์สเคยกล่าวไว้ว่า "ตัวอย่างที่ดีที่จะอธิบายขั้นตอนของแจ๊สมันไม่มีเลย"
ประวัติ
ดนตรีแจ๊สมีต้นกำเนิดราวทศวรรษ 1920 โดยวงดนดรีวงแรกที่นำสำเนียงแจ๊สมาสู่ผู้ฟังหมู่มากคือ ดิ ออริจินัล ดิกซีแลนด์ แจ๊ส แบนด์ (The Original Dixieland Jazz Band: ODJB) ด้วยจังหวะเต้นรำที่แปลกใหม่ ทำให้โอดีเจบีเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมาก พร้อมกับให้กำเนิดคำว่า "แจ๊ส" ตามชื่อวงดนตรี โอดีเจบีสามารถขายแผ่นได้ถึงล้านแผ่น
รากลึกของแจ๊สนั้นมีมาจากเพลงบลูส์ (Blues) คนผิวดำที่เล่นเพลงบลูส์เหล่านี้เรียนรู้ดนตรีจากการฟังเป็นพื้นฐาน จึงเล่นดนตรีแบบถูกบ้างผิดบ้าง เพราะจำมาไม่ครบถ้วน มีการขยายความด้วยความพึงพอใจของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งกลายเป็นที่มาของคีตปฏิภาณ (Improvisation) คือ การแต่งทำนองเพลงขึ้นมาใหม่ สด ๆ โดยไม่ได้เตรียมตัวมาล่วงหน้า หรือการโซโล่แบบด้นสด ในภายหลังดนตรีแร็กไทม์ (Ragtime) ก็เชื่อว่ามีต้นกำเนิดคล้าย ๆ กันคือ เกิดจากดนตรียุโรปผสมกับจังหวะขัดของแอฟริกัน บลูส์และแร็กไทม์นี่เองที่เป็นรากของดนตรีแจ๊สในเวลาต่อมา
เพลงบลูส์เริ่มได้รับความนิยมในช่วงเวลาเดียวกันกับแร็กไทม์ ปลาย ๆ ทศวรรษ 1910 เพลงบลูส์และแร็กไทม์ถูกผสมผสานจนกลมกลืนโดย บัดดี โบลเดน (Charles Joseph 'Buddy' Bolden) เป็นผู้ริเริ่ม หากแต่เวลานั้นยังไม่มีการประดิษฐ์คำว่าแจ๊สขึ้นมา และเรียกดนตรีเหล่านี้รวม ๆ กันว่า "ฮ็อต มิวสิก" (Hot Music) จนกระทั่งโอดีเจบีโด่งดัง คำว่า แจ๊ส จึงเป็นคำที่ใช้เรียกขานกันทั่ว แจ๊สในยุคแรกนี้เรียกกันว่าเป็น แจ๊สดั้งเดิม หรือ นิวออร์ลีนส์แจ๊ส
อ้างอิง https://www.youtube.com/watch?v=Xf4IYI9Gj7Y
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น